COLUMNIST

หมดยุคทองยางพารา ได้เวลาขายทองรูปพรรณ
POSTED ON -


 

ปัญหายางพาราในประเทศไทยในมุมมองของคนทั่วไปอาจเห็นว่าเป็นปัญหาของเศรษฐกิจและถูกการเมืองแทรกแซง ถ้ามองในมุมของมหภาคแล้วยางพาราถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในระดับโลกทีเดียว

 

หลายท่านคงอยากทราบว่ายางพาราจากป่าร้อนชื้นในลุ่มน้ำแอมะซอนทำไมกลายเป็นพืชอัศจรรย์ที่ปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และในอนาคตโลกเรายังต้องใช้ยางจากต้นยางพาราอีกต่อไปหรือไม่ ในเมื่อยางธรรมชาติอาจสู้ยางสังเคราะห์ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปผลิตตุ๊กตายางหรือใช้ในทางการแพทย์

 

ราคาตลาดยางที่ผันผวนในระดับนี้สาเหตุหลักเกิดจากความต้องการในตลาดลดลง และราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากน้ำมันถูกลง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง และแน่นอนที่สุดคือเกิดจากชาวอาเซียนเองที่แห่กันปลูกยางพารา โดยหวังในความร่ำรวยมากเกินไป

 

หรือจะให้โทษนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่พัฒนายางพาราให้สามารถปลูกได้ในแทบทุกพื้นที่ในอาเซียน ไม่เฉพาะแต่ป่าดิบชื้นแบบลุ่มน้ำแอมะซอนเหมือนแต่ก่อน ซึ่งปลูกได้เฉพาะพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันยางพาราปลูกได้ทั่วทุกภาคของไทย รวมทั้งเพื่อนบ้านของไทย กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์ โดยประเทศที่ปลูกยางพารามากที่สุดในอาเซียนและในโลกก็คือ “อินโดนีเซีย” แต่ประเทศที่ได้ผลผลิตมากที่สุดคือ “ประเทศไทย”

 

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณเนื้อที่การปลูกยางของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 73.14 ล้านไร่ในปี 2554 เป็น 77.60 ล้านไร่ในปี 2558 ส่วนผลผลิตจากยางพาราในตลาดโลกนั้นเพิ่มขึ้นจาก 11.28 ล้านตันในปี 2554 เป็น 12.00 ล้านตันในปี 2558 เมื่อราคายางสูงขึ้น ทำให้เป็นเหตุจูงใจให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มตั้งแต่ปี 2547 โดยผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก 3 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีเนื้อที่ปลูกยางพารารวม 46.50 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 59.92 ของเนื้อที่ปลูกยางพาราทั้งหมดของโลก ผลผลิตรวม 8.36 ล้านตัน

 

ส่วนความต้องการใช้ยางพาราของประเทศจีนนั้นมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับทางยุโรปและญี่ปุ่น โดยความต้องการใช้ยางของประเทศจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 3.6 ล้านตันในปี 2554 เป็น 5 ล้านตันในปี 2558 เนื่องจากประเทศจีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนยุโรปมีความต้องการใช้ยางพาราลดลงจาก 1.24 ล้านตันในปี 2554 เหลือ 1.13 ล้านตันในปี 2558 ขณะที่อินเดียมีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นจาก 0.96 ล้านตันในปี 2554 เป็น 1.05 ล้านตันในปี 2558 สวนทางกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้ยางลดลงจาก 1.03 ล้านตันในปี 2554 เหลือ 0.91 ล้านตันในปี 2558 เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ใช้ยางลดลงจาก 0.77 ล้านตันในปี 2554 เหลือ 0.70 ล้านตันในปี 2558 ทำให้ผู้ผลิตยางต้องพึ่งพาตลาดจีนมากขึ้น และการส่งออกยางของโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.45 ต่อปี โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกยางเป็นอันดับหนึ่ง คือ 3.7 ล้านตัน อินโดนีเซียส่งออกเป็นอันดับสอง 2.7 ล้านตัน มาเลเซียเป็นอันดับสาม 1.26 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกเป็นอันดับสี่ 1 ล้านตัน

 

 

เราไม่อาจโทษหรือตำหนิชาวสวนยางในอาเซียนได้เลย เพราะพวกเขายากจนกันมานาน วันนี้มีพืชที่ปลูกแล้วทำให้เขาเหล่านั้นหลุดพ้นจากหนี้สินและสร้างความร่ำรวยลืมตาอ้าปากได้ พร้อมด้วยรถปิคอัพคันงามอันเป็นสัญลักษณ์ของความหายนะทางระบบนิเวศ ยางรถปิคอัพ ก็คือ ผลพวงจากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เขาเหล่านั้นมีวันนี้

 

เจ้าพืชประหลาดที่เรียกว่ายางพาราช่างมีสายใยชีวิตที่ยืดยาวราวกับแมวเก้าชีวิต เริ่มจากเมื่อเติบโตเต็มวัยก็สามารถให้น้ำยางสม่ำเสมอเกือบตลอดระยะเวลา 20 ปี ไม่ต่างกับการได้สัมปทานจากภาครัฐ และเมื่อแก่ตัวให้ผลผลิตน้ำยางไม่ดี ก็สามารถนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์และของใช้แทบทุกชนิด และท้ายที่สุดคือการนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหินได้เป็นอย่างดี

 

ส่วนน้ำยางพาราได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ทำถนน ยางล้อรถต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้าน ไปจนถึงถุงยางอนามัย แม้ว่าจะมียางสังเคราะห์มาเป็นคู่แข่งแต่ยางธรรมชาติจะมีความแข็งแกร่งมากกว่า ยืดหยุ่นกว่า และทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่ายางสังเคราะห์

 

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องนำยางพารามาผลิตสินค้าขายให้มากขึ้นแทนการขายเป็นวัตถุดิบ ซึ่งคงไม่ต่างจากการนำทองคำมาผลิตเป็นทองรูปพรรณเพื่อเพิ่มมูลค่านั่นเอง

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics